บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานในการบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งนโยบายดังกล่าวครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานและพนักงานของบริษัท และบริษัทยังให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากร ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการทั้งหมดอันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ที่มีความสำคัญ ตลอดจนการขนส่งและจำหน่ายสินค้าและบริการ การจัดการของเสีย นอกจากนี้ยังรวมถึงการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ในการวิเคราะห์การควบรวมและการซื้อกิจการเพื่อประเมินระดับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางการจัดการที่เหมาะสม และความมุ่งมั่นนี้ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้บริหาร พนักงานทุกคน และจะถูกถ่ายทอดไปยัง คู่ค้า ตลอดจนผู้รับเหมา ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องที่ทำงานในนามของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
มุ่งมั่นเพื่อความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานทางเลือก ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม
ปฎิบัติตามกฎหมาย ด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเคร่งครัด
สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา
มุ่งมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และป้องกันมลพิษ อันเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมอาสาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
มุ่งมั่นในการป้องกันอันตราย และกำจัดอันตรายเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึง การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานต่างๆ ที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัยเพื่อป้องกันความเจ็บป่วยจากการทำงานที่จะเกิดกับลูกจ้างและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบการจัดการของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ 2562 - 2566 ไม่มีกรณีละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดค่าปรับที่มีนัยสำคัญ (ค่าปรับจากการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ 10,000 USD)
ในการจัดของเสียนั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยวางกลยุทธ์เป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเมื่อการใช้ทรัพยากรน้อยลง ก็จะส่งผลให้ลดปริมาณการเกิดของเสีย และลดภาระการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ
บริษัทฯ ได้ออกประกาศนโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานในการลดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการลดปริมาณของเสียที่แหล่งกำเนิด และการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการบริหารจัดการ โดยโครงการที่บริษัทรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำแผงโซล่าที่เริ่มด้อยประสิทธิภาพ เปลี่ยนออกไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท หรือนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าให้แก่ชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการกำจัดขยะและของเสีย (Waste Management Procedure) ให้ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งจะครอบคลุมการจัดการขยะและของเสียอันตรายจากกระบวนการต่างๆ หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มบริษัท รวมถึงการควบคุมขั้นตอนการคัดแยกประเภท ชนิดของขยะและของเสียอันตราย และให้มีการจัดส่งขยะและของเสียอันตรายไปกำจัดอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแนวทางการบริหารจัดการของเสียตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงขั้นตอนการกำจัดอย่างต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการจัดการวัสดุเหลือทิ้งด้วยกลยุทธ์ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) โดยมุ่งเน้นการลดใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้ง มีการทบทวนและปรับปรุง การจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Management Procedure) อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งการปลูกจิต สำนึกให้แก่พนักงานในองค์กร เกี่ยวกับความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้รณรงค์และปลูกฝังการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าต่อพนักงานและบุคลากรของบริษัทฯ โดยการจัด “3Rs Campaign Communication” ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกระบวนการบริหารจัดการ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พร้อมกับการควบคุมและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทฯ ได้จัดทำโครงการลดความสกปรกของน้ำเสียจากการล้างหอกลั่นกลีเซอรีน ด้วยการกรองผ่าน Filter press เพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการกรองกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งสามารถช่วยลดการกำจัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตได้ 30-45 ตันต่อเดือน สามารถลดค่ากำจัดน้ำเสียลงได้ จำนวน 35,000 บาทต่อเดือน
บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยการพัฒนาระบบการจัดการพลังงานให้มีความเหมาะสม อีกทั้งมีการกำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนโครงการอนุรักษ์พลังงานประจำปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเชื้อเพลิงที่ทางโรงงานสามารถดำเนินการลดปริมาณการใช้คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และ ถ่านหิน (Coal)
บริษัทฯ ออกประกาศนโยบายอนุรักษ์ จัดทำแผนโครงการอนุรักษ์พลังงานประจำปี และสรุปผลรายงานประจำปีด้านการจัดการพลังงาน โดยมีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนงานโครงการที่ช่วยในการดำเนินการควบคุมปริมาณการใช้เชื้อเพลิงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อการดำเนินงาน
โครงการลดปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยการนำความร้อนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD) กลับมาให้ความร้อนแก่วัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ส่งผลให้สามารถลดสัดส่วนปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ต่อหน่วยการผลิตน้ำมันRBD ได้ โดยในปี 2566 ใช้ LPG 0.75 กิโลกรัม LPG ต่อกิโลกรัมน้ำมัน RBD ปี 2565 ใช้ LPG 0.78 กิโลกรัม LPG ต่อกิโลกรัมน้ำมัน RBD และในปี 2564 ใช้ LPG 0.64 กิโลกรัม LPG ต่อกิโลกรัมน้ำมัน RBD
โครงการลดปริมาณการใช้ถ่านหิน (Coal) จากการปรับปรุงเครื่องจักรโดยการเปลี่ยนท่อไฟในหม้อน้ำ (Boiler) ขนาด 16 ตัน ส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้ถ่านหิน (Coal) โดยในปี 2566 ใช้ 140 กิโลกรัมถ่านหินต่อตันไอน้ำ ในปี 2565 ใช้ถ่านหิน 147.79 กิโลกรัมถ่านหินต่อตันไอน้ำ และในปี 2564 ใช้ถ่านหิน 146 กิโลกรัมถ่านหินต่อตันไอน้ำ
โครงการเปลี่ยนใบพัดลมคูลลิ่งทาวเวอร์ จากการเปลี่ยนวัสดุของใบพัดลมคูลลิ่งทาว์เวอร์สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลง 126,327.96 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)
โครงการแผงโซล่าเซลล์ติดตั้งบนหลังคา มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบริเวณอาคารสำนักงาน โรงจอดรถ รวมทั้งอาคารคลังสินค้าภายในบริษัทฯ จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก และชัยภูมิ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกรวมทั้งสิ้น 191,711.9 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)
โครงการแผงโซล่าเซลล์แบบทุนลอยน้ำ มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แบบทุ่นลอยน้ำบริเวณสระน้ำภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดลพบุรี สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกรวมทั้งสิ้น 37,212.7 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)
บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่เกิดจากการดำเนินงานโดยการนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนดำเนินการเพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดให้เป็นน้ำคุณภาพดีแล้วไปใช้ในพื้นที่สีเขียวของโรงงานเพื่อทดแทนการใช้น้ำประปา รวมถึงการรณรงค์ และส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่าบางโครงการของบริษัทฯ จะตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำตึงเครียด (water stress area) แต่บริษัทฯไม่ได้มีการใช้น้ำในปริมาณมากที่จะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งบริษัทฯมีแผนการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างดี
ในปี 2566 ไม่มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจจากการใช้น้ำที่มีมูลค่าสูงกว่า 10,000 USD
จากผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต 124,394 ลูกบาศก์เมตร และสามารถนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว กลับมาใช้ซ้ำได้อีกจำนวน 1,518 ลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ดังนี้
โครงการนำน้ำที่ระบายทิ้งจากคูลลิ่งทาวเวอร์ (น้ำ Blowdown) มาใช้เติมในระบบน้ำดับเพลิงทดแทนการใช้น้ำประปา ซึ่งสามารถทดแทนการใช้น้ำประปาได้ 1,480 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 1.19 ของน้ำที่เติมเข้าในระบบของคูลลิ่งทาวเวอร์
โครงการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ในการทำความสะอาดพื้นที่โรงงาน โดยสามารถลดการใช้น้ำประปาได้ 38 ลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 0.03% ของการใช้น้ำประปาทั้งหมดของโรงงาน
โครงการกำหนดค่า Electrical Conductivity (EC) ของบ่อล้าง โดยตรวจวัดค่า EC ของบ่อ Water Rinse2 และบ่อ Water Rinse4 ให้อยู่ ในเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลดการเติมน้ำ DI (น้ำที่ผ่านขบวนการขจัดอิออนของสารละลายทั้งหมด) ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้น้ำประปาที่นำมาผลิตเป็นน้ำ DI ลงได้ 50.4 ลูกบาศก์เมตร/เดือน
โครงการระบบน้ำล้างผิวตัวรถและชิ้นส่วนก่อนกระบวนการชุบ EDP โดยเพิ่มคุณภาพของชิ้นงานหลังการชุบสี ทำให้ลดการใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำ DI ได้ 878 ลิตร/รถ 1 คัน
บริษัทฯ และบริษัทในกลุ่ม คำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในที่อยู่อาศัยและสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมซึ่งร่วมกันส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง เราตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจของเราอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสถานประกอบการของเรา ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะจัดการและบรรเทาผลกระทบของการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนรวมการพิจารณาและการประเมินความหลากหลายทางชีวิภาพเข้ากับกระบวนการทำงานของเรา และในปีที่ผ่านมาได้จัดทำความมุ่งมั่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ Biodiversity Commitment รวมถึงมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการลดความเสี่ยงผลกระทบให้น้อยที่สุด มีแผนมาตรการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามแนวทางการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การหลีกเลี่ยง การลดผลกระทบ การฟื้นฟู และการชดเชย
โรงไฟฟ้าพลังงานลมอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ปีก ได้แก่ นกและค้างคาว บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพรอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงก่อนก่อสร้างและระยะดำเนินการ
ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ได้มีการฝึกอบรมการจำแนกชนิดนกและค้างคาวให้กับพนักงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากการอบรมแล้วยังมีการสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อติดตามชนิดและประชากรของนกในพื้นที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ พบว่าพื้นที่บริเวณรอบๆ เสากังหัน 3 ต้น ได้แก่ เสาที่ WTG 45, 47 และ 48 พบนกทั้งสิ้น 27 ชนิด หนึ่งในนั้นคือนกกาบบัว (Painted Stork) นกขนาดใหญ่ที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ บริเวณทุ่งติดกับเสาที่ WTG 47 จำนวน 12 ตัว ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับจำนวนที่พบ 14 ตัว ในการสำรวจช่วงฤดูฝนเมื่อปี 2563 อนึ่ง นกกาบบัว ปัจจุบันเพิ่งได้รับการจัดสถานภาพทางการอนุรักษ์ ระดับนานาชาติ เป็น Least Concern (LC) หรือไม่น่าเป็นห่วง จากเดิมที่เคยจัดเป็นชนิดที่ Near Threatened (NT) หรือใกล้ถูกคุกคาม เนื่องจากประชากรในภาพรวมทั้งโลกเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประชากรในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ยังถือว่ายังน้อยอยู่และค่อนข้างหายาก ในระดับประเทศยังจัดเป็นนกที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคามอยู่จึงถือว่าเป็นเรื่องดีที่พื้นที่มีนกชนิดนี้อยู่ประจำถิ่น
บริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ โดยได้มีการเฝ้าระวังและตรวจติดตามปริมาณมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่เกิน 0.33 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (0.33 mg/m3)
TSP : Total suspended particles
ESL : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดลำปาง
ESP : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดพิษณุโลก
ESN : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดนครสวรรค์
ESLO : โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดลพบุรี